ปิด จันทร์ - อังคาร

ดูหนังขลัง ‘อีสานสเปเชียล / คืนพระจันทร์เต็มดวง’ (คลิป)

Print

 

 

 

 

 

IsanS Poster

 

กลับไปดูหนังขลัง

‘อีสานสเปเชียล / คืนพระจันทร์เต็มดวง’

ไทย, 2545, 112 นาที – บทบรรยายภาษาอังกฤษ
ยอดหนังตลกสะท้อนจิตวิทยาไทย  ที่หลายคนคลั่งไคล้และอยากกลับมาดูกันใหม่บนจอใหญ่เต็มอารมณ์เพ้อเจ้อ  ในภาพเฟรมสวยเหมือนศิลปะภาพถ่าย

แรกเห็นนางเอกเพ็ญนภากำลังพลิกดูนิตยสารบันเทิงอยู่ที่เพิงขายหนังสือพิมพ์ที่ขนส่งหมอชิต  (นี่กลายเป็นภาพย้อนยุคไปแล้ว  ถ้าเป็นทุกวันนี้เธอคงนั่งเขี่ยโทรศัพท์รอรถ)  ทันทีที่เธอผีเข้าจากละครวิทยุบนรถเมล์  คนดูที่ลิโดในปี 2546 ระเบิดหัวเราะออกมาดังๆ  เริ่มแรกอย่างกล้าๆ กลัวๆ จนกลายเป็นหัวเราะเต็มคอ  จากนั้นคนดูก็อยู่กับเธอตลอดพล็อตน้ำเน่าทั้งจริงและละเมอเพ้อพกของ ‘อีสานสเปเชียล’  ขณะที่ผู้โดยสารบนรถทุกคน – รวมทั้งแดนนี่ (พระเอก)  นักเดินทางลูกครึ่งอีสาน-อเมริกันจีไอ (แน่อยู่แล้ว) – ต่างเล่นบทบาทน้ำเน่าของตนอย่างเต็มศรัทธา  กระทั่งเราหวนคืนสู่โลกแห่งความเป็นจริง  เมื่อรถเมล์ต้องมนต์คันนั้นมาถึงจังหวัดแต่งตั้งใหม่หนองบัวลำภู

หนังเปลี่ยนเกียร์โดยละม่อมและหน้าตาเฉย  สองหญิงนั่งอยู่แถวหน้าของรถเมล์   โดยมีคนอื่นๆ กระจายอยู่ข้างหลัง  ผู้มีอายุมากกว่า  ประมาณห้าสิบ  เป็นสุภาพสตรีต่างจังหวัดที่แต่งตัวเรียบร้อยมีรสนิยมในเสื้อขาวติดลูกไม้สีเบจกับผ้าซิ่นทอมือ (เครื่องแต่งตัวคิดมาเพะมาก)  เธอนั่งพัดตัวเองอย่างสบายๆ ในแถวตรงข้ามกับนางเอก  ต่างใจลอยฟังเสียงเจ้าบทบาทจากละครน้ำเน่าในวิทยุ

ทันใดนั้น  เกิดการมาเยือนจากมิติแห่งมนตรา – ซึ่งรายล้อมเราอยู่ทุกหนแห่งในเมืองไทยรวมทั้งในคลื่นวิทยุและแสงจันทร์ – ในคราบของแสงสว่างที่จุติขึ้นบนเข็มกลัดประจำตระกูลรูปพระจันทร์เสี้ยวบนอกเธอ  อันเป็นมรดกชิ้นเดียวจากพ่อผู้แสนดีแต่โดนปอกลอก  และแล้วแสงสว่างวูปนั้นจึงเข้าสิงเธอ  นางขอคนขับอย่างเรียบง่ายและสุภาพแต่มั่นใจให้ปิดวิทยุ  แล้วก็เริ่มร่ายบทนางเอกด้วยการหันมาตวาดคุณนายข้างๆ ซึ่งขณะนี้เธอเห็นเป็นแม่เลี้ยงใจร้าย : “ อีอกตัญญู!  คนอย่างแกมันไม่ต่างอะไรจากพวกปลิงพวกทาก…”

เหมือนไม่ได้ยิน  สุภาพสตรีท่านนั้นยังคงโบกพัดอย่างใจเย็น  จนกระทั่งเธอเองก็ถูกดูดเข้าไปในละคร

วิธีสับเปลี่ยนมิติแห่งความเป็นจริงตามอำเภอใจและเหตุผลส่วนตัวอย่างหน้าตาเฉยของผู้กำกับ หม่อมหลวงมิ่งมงคล  โสณกุล  พาให้นึกถึง “ขบวนการสร้างให้เชื่อ” ของวิลเลียม  เชคสเปียร์อย่างเลี่ยงไม่ได้  และนี่คือ ‘มิดซัมเมอร์ไนท์สดรีม/ฝันกลางฤดูร้อน’ ฉบับไทยอันเยี่ยมยอด  โดยที่ละครเกิดขึ้นจากการตกลงร่วมกันระหว่างคนดูและคนเล่น  ซึ่งสามารถเอาคนสามคนมายืนบนเวที  เรียกคนที่ยืนอยู่ตรงกลางว่า ‘กำแพง’  ระหว่างคู่รักทั้งสอง  และแล้วละครก็บังเกิดขึ้น : ความเป็นจริงหนึ่งก็เกิดขึ้นโดยไม่ต้องอธิบายอะไรเลย

‘มิดซัมเมอร์’ ฉบับนี้มาพร้อมกับเจ้า ‘ภัค’ – พรายเล่นตลกแห่งแมกไม้  ในเรือนร่างของทหารผิวกรำแดดจากแถวหลังของรถเมล์  ที่ดูเหมือนจะแมนแต่พูดออกมาแต๋วสนิทแบบละครทีวีตามสูตร ทีแรกดูจะเป็นพวกนางร้ายแต่สุดท้ายกลับเป็นพันธมิตร

การมาถึงดินแดนอีสานอันขลังด้วยตำนานสะกดออกมาด้วยภาพไส้กรอกห้อยยาวราวไส้กระสือ (ซึ่งหนังใช้เป็นมุกซ้ำหลายครั้ง – แล้วมันก็ตลกทั้งที่มันแสนจะเด็ก – โดยเรียกมันว่า ‘ไส้กรอกอิตาเลี่ยน’  ในโรงแรมรีสอร์ทหรูที่ผู้โดยสารเหล่านี้เชื่อว่าตัวเองกำลังมาพักหรือทำงานอยู่)  และชายขี้เมาที่มายืนถือหอกอยู่กลางถนน  แน่นอนว่าเขาคือตัวแทนความตาย  และไม่ใช่เพียงสำหรับพวกกบที่เขาจะแทงไปกินแกล้มเหล้า  เสียงหมาหอนหนังผีไทยในความมืดขานรับผู้โดยสารคลาสสิคผีหญิงไทย  ที่มายืนรอรถอยู่กลางดึกกลางที่ปลอดเปลี่ยว

“โรงแรมจาระวียินดีต้อนรับค่ะ  ไส้กรอกอิตาเลี่ยนของเราอร่อยมาก”  นางเอกที่กำลังตกทุกข์ได้ยากต้องมาทำงานเป็นสาวเสิร์ฟบอกนางผีอย่างนอบน้อม

มาถึงตรงนี้  เพิ่งนึกได้ว่ายังไม่ได้บอกว่าหนังทั้งเรื่องนั้นพากย์ด้วยเสียงคลาสสิคนักพากย์หนังจากยุคทองหนังไทย 16 มม.  ซึ่งยิ่งขับให้มนตราแห่งการสร้างให้เชื่อแบบ ‘มิดซัมเมอร์’ และราศรีแห่งหนังรักเข้มข้นขึ้นอีก  ฟองความคิดคำนึงสื่อเป็นว็อยซ์โอเวอร์สะท้อนเสียงแบบละครวิทยุ  เช่นในปฏิกิริยาที่นางเอกมีต่อความเงียบเชียบของนางผี : “แปลกจัง  พูดด้วยก็ไม่พูด  แถมยังดูซีดๆ ยังไงก็ไม่รู้”  จำได้ว่าคนดูที่ลิโดตอนนั้นหัวเราะลั่นโรง  ไม่รู้เหมือนกันว่าชาวต่างชาติจะเห็นความโฉ่งฉ่างแบบนี้เป็นเรื่องขบขันอย่างที่เราเห็นหรือไม่  ยกเว้นว่าคุณสามารถมองเห็นความจริงแห่งความโฉ่งฉ่างแบบนี้ในวัฒนธรรมกระแสหลักและวัฒนธรรมเผด็จการจากยุคหลวงวิจิตรฯ  ที่คอยตีตราอัตลักษณ์ของผู้คนในสังคม  อันเป็นเรื่องน่าอึดอัดใจสำหรับคนไทย  มันทำให้ชีวิตของเราเป็นละครตลกโปกฮา  คอยจำกัดกักขังเราไว้ในบทบาทที่มันคาดหมาย  นั่นคือผู้ถูกกระทำที่ขี้สงสารตัวเอง  และผู้กดขี่ข่มเหงอย่างไม่เลิกรา

สมบัติชวนปรารถนา  (ไร่เลี้ยงม้า, เสื้อผ้าดีไซเนอร์, ห้องชุดในโรงแรมห้าดาว ฯลฯ)  ได้รับการขานถึงอย่างละเลียดด้วยความโหยหา  อีกทั้งบัญชีหางว่าวแห่งสารพัดความทุกข์ทรมาน  สำเนียงอีสานแปรเปลี่ยนเป็นเสียงพูดภาคกลางแบบคุณนายละคร  แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นยาถอนพิษวัฒนธรรมเสแสร้งกลั่นแกล้งชิงดีชิงเด่นนี้  เมื่อการเดินทางต้องมนต์กลางแสงจันทร์ของรถเมล์จบลงที่จุดหมายปลายทาง  และเราหวนคืนสู่โลกแห่งความเป็นจริง  เราพบว่านางเอกที่หลงและขี้สงสารตัวเองนั้น  ที่แท้เป็นหญิงที่มีเกียรติและจริงใจ  ผู้ปฏิเสธที่จะใช้ชีวิตจอมปลอมบนรากฐานของความเท็จ

ส่วนนางแม่เลี้ยงใจร้ายกลับเป็นนักธุรกิจที่ตีนติดดินและมีน้ำใจ  เธอคอยให้คำแนะนำและสุดท้ายรับสาวคนงานพม่านอกกฎหมาย (นางรอง) มาดูแลราวกับเป็นแม่ที่อบอุ่นและหวังดีมีเหตุผล  ไร้ดราม่าเก๊ๆ  ไร้กลิ่นน้ำเน่า  ในเรื่องฉีกข้างที่น่ารักมาก  (อลิศกินเห็ด)

 

 

ผู้กำกับ: หม่อมหลวงมิ่งมงคล โสณกุล
โปรดิวซ์ : หม่อมหลวงมิ่งมงคล โสณกุล
บทภาพยนตร์: หม่อมหลวงมิ่งมงคล โสณกุล, อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล