แกลเลอรี่โอเอซิส ภูมิใจเสนอ
โลกาวสานต์
นิทรรศการจิตรกรรมสีน้ำมันโดย
อิ๋ง กาญจนะวณิชย์
6 ตุลาคม 2561 – 13 มกราคม 2562
การกระโจนเข้าไปในภาพเขียนของ อิ๋ง กาญจนะวณิชย์ นั้น เหมือนได้หลุดเข้าไปในมหาวิหารสักแห่งหนึ่งซึ่งพาเราหลงไปในมิติที่ชวนผวา อิ๋งเขย่าเราให้ตื่นและฉุดเราออกมาจากโซนปลอดภัยของเรา มีศิลปินน้อยคนที่จะกล้าตรงไปตรงมาขนาดนี้ โดยไม่พยายามประจบขอความชื่นชมจากเราหรือยั่วยุเราโดยไร้เหตุผล ภาพเขียนผ้าใบแต่ละภาพมีนิมิตภายใน ไม่ว่าจะมาจากความลิงโลด ความซึมเศร้า หรือการพยากรณ์อันมืดมน มันคือภาพทิวทัศน์แห่งจิตที่ขุดค้นพบความกลัวและความอยากพื้นฐานของมวลมนุษย์ พลังอำนาจของมันตามหลอกหลอนเราเหมือนผี
ผลิตขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ภาพชุด ‘โลกาวสานต์ ’ ทะยานเหนือมิติของกาลเวลาและสถานที่ (กาละ – เทศะ) มันทั้งปรีดี ทั้งลิงโลดและขย่มขวัญ มันทั้งล้อเลียนและประจัญบานสิ่งที่ไม่ยอมแสดงตน, การบิดเบือนความจริง, ความไร้สัจจะของอำนาจซ่อนเร้น, และด้านมืดในตัวตนของเราทุกคน หัวใจเธอหนักด้วยโศกนาฏกรรมที่บังเกิดต่อบ้านเมือง และความกังวลที่สูงขึ้นเรื่อยๆถึงเหตุร้ายใหม่ที่กำลังมา ภาพเขียนของเธอประจานกระบวนการที่เพียรพยายามปฏิเสธความเป็นจริง และเผยโฉมหน้าของสิ่งที่เธอหวาดหวั่น : “แรงปรารถนาอันลึกล้ำและมืดมน” ของผู้มีอำนาจ
‘โลกาวสานต์ʼ เป็นจิตรกรรมที่เข้มข้นด้วยความรู้สึก ทั้งความเศร้า ทุกข์ระทม และความเจ็บปวดที่ละเลงบนผ้าใบแต่ละผืน ราวสักยันต์ด้วยพู่กันที่สามารถเล่าเรื่องราวของศิลปินที่ต่อต้านอำนาจ ที่กําลังนำพาสังคมไปสู่โลกาวสานต์ สีแดงที่เธอใช้ในทุกรูปเหมือนการเดินทางของเลือดที่ไหลเรื่อยมาเป็นปีๆ สัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดที่รอวันชำระล้าง แต่งานของอิ๋งกลับทำให้นึกถึงการทำนาย การพยากรณ์มากกว่าการสาปแช่ง แปรเปลี่ยนพลังด้านลบเป็นขุมพลังที่สร้างสรรค์งานศิลปะชุดนี้
อิ๋ง : “ถ้าเราจะสร้างหนังผีสักเรื่องหนึ่ง เราต้องฟันฝ่าอุปสรรคและกระบวนการมากมาย ใช้ทุน ใช้อุปกรณ์พิเศษ ใช้คนเก่งเป็นกองทัพ ต่อให้เป็นหนังอินดี้ก็ต้องมีกองโจร มันน่าสนใจที่คนถือพู่กันหนึ่งคนกับสีและผ้าใบ ก็ทำหนังผีได้เหมือนกัน ถ้าคุณให้เวลากับมัน ภาพเขียนก็มีนิทาน มีการเคลื่อนไหว มีเสียง มีเอ็ฟเฟ็คท์พิเศษเลือดสาดได้ พอๆกับหนังผี”
อิ๋ง กาญจนะวณิชย์ (เกิด กทม. 2502) เป็นศิลปิน, นักเขียน (ข้างหลังโปสการ์ด, บันทึกหนังไทยเชือกกล้วย) และหนึ่งในนักทําหนังที่ถูกแบนมากที่สุดในโลก มีผลงานจิตรกรรมเป็นที่รู้จักจากนิทรรศการกลุ่ม ‘ประวัติศาสตร์ & ความทรงจํา’ (2544) และ ‘นีโอชาตินิยมʼ (2548) ที่หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาฯ; ‘ประวัติศาสตร์และความทรงจำ: อดีตหลอน 6 ตุลาʼ (2551) ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์; เบียนนาเล นานาชาติแห่งนครซาวเปาโล ; ‘ศิลปะแห่งคอรัปชั่น’ ที่หอศิลป์สนง. ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยที่ภาพ ‘นิมิตทะเลเลือดʼ 2548 และ ‘อนุสาวรีย์ชัยʼ แสดงซ้ำใน ‘รอยยิ้มสยาม – ศิลปะ – ศรัทธา – การเมือง – ความรัก’ และ ‘กรุงเทพ 226 – ศิลปะจากยุคสร้างบ้านแปงเมือง สู่กรุงเทพในฝัน’ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ‘โลกาวสานต์ เป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเธอ